สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม กระทรวงคมนาคม ร่างกฎหมายใหม่ได้กำหนดอัตราความเร็วการขับรถยนต์ไว้ ทางเดินรถแบบจัดแบ่งช่องเดินรถในทิศทางเดียวกันไว้ตั้งแต่ 2 ช่องเดินรถ มีเกาะกลางถนนเฉพาะแบบกำแพงกั้นและไม่มีจุดกลับรถเสมอระดับถนน ในทางหลวงแผ่นดิน ทางหลวงชนบท ได้กำหนดให้ใช้ความเร็วไม่เกินตามประเภทของรถ ได้แก่..
กฎหมายความเร็วรถบรรทุก
รถบรรทุกที่มีน้ำหนักเกิน 2,200 กิโลกรัม รถบรรทุกคนโดยสารเกิน 15 คน ให้ใช้ความเร็วได้ไม่เกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
รถบรรทุกผู้โดยสารเกิน 7 คน แต่ไม่เกิน 15 คน ให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
รถโรงเรียนหรือรถรับส่งนักเรียน ให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
กฎหมายความเร็วรถยนต์
รถยนต์ 4 ล้อใช้ความเร็วได้ไม่เกิน 110 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ขับรถเลนขวาสุดบนทางหลวง ต้องวิ่งด้วยความเร็วไม่ต่ำกว่า 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
รถแทรกเตอร์ รถบดถนน รถที่ใช้ในการเกษตร ใช้ความเร็วได้ไม่เกิน 45 กม./ชม
รถจูงรถอื่น รถยนต์สี่ล้อเล็ก หรือรถยนต์สามล้อ ให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
กฎหมายความเร็วรถจักรยานยนต์ / มอเตอร์ไซค์
รถจักรยานยนต์ใช้ความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
รถจักรยานยนต์ที่มีกำลังเครื่องยนต์ตั้งแต่ 35 กิโลวัตต์ขึ้นไป หรือมีขนาดความจุของกระบอกสูบรวมกันตั้งแต่ 400 ซีซีขึ้นไปให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
กฎหมายความเร็วบนทางด่วน 2566
รถยนต์ 4 ล้อ วิ่งบนทางด่วนได้ไม่เกิน 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
รถบรรทุกมากกว่า 2,200 กิโลกรัม หรือรถโดยสารเกิน 15 คน ขับบนทางยกระดับหรือทางด่วนได้ไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
รถโรงเรียน-รับส่งนักเรียน ขับบนทางด่วนได้ไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ขอบคุณรูปภาพจาก: การทางพิเศษแห่งประเทศไทย
ละเมิดกฎหมายจราจร มีโทษอะไรบ้าง
ใช้ความเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด ปรับไม่เกิน 4,000 บาท
ขับรถฝ่าไฟแดง ปรับ ไม่เกิน 4,000 บาท
ไม่หยุดรถหลังเส้น ให้รถหยุดเมื่อมีสัญญาณไฟแดงปรับไม่เกิน 1,000 บาท
ขับรถย้อนศร ปรับไม่เกิน 2,000 บาท
ขับขี่บนทางเท้าโดยไม่มีเหตุอันควร ปรับตั้งแต่ 400 – 1,000 บาท ผู้แจ้งเบาะแสได้รับเงินส่วนแบ่งกึ่งหนึ่งของค่าปรับ
ไม่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย ปรับไม่เกิน 4,000 บาท
ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ปรับไม่เกิน 2,000 บาท
ผู้โดยสาร “ตอนหลัง” ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยต่อชีวิตหรือร่างกายผู้อื่น จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับ 5,000 – 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
คนขับ คนซ้อนไม่ใส่หมวกกันน็อค ปรับเท่าไหร่ 2566
กรณีผู้ขับขี่ไม่ใส่หมวกกันน็อค ปรับ 400 บาท
คนซ้อนไม่ใส่หมวกกันน็อค ปรับ 800 บาท
ยกเว้น ภิกษุ สามเณร นักพรต นักบวช หรือผู้นับถือลัทธิศาสนาอื่นที่ใช้ผ้าหรือสิ่งอื่นโพกศีรษะตามประเพณีนิยมนั้น หรือบุคคลใดที่กำหนดในกฎกระทรวง
กรณีขับรถจนทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนและเป็นอันตราย
นำรถยนต์ที่เครื่องยนต์ก่อให้เกิดก๊าซ ฝุ่นควันดำ ละอองเคมี เกินเกณฑ์ที่อธิบดีกำหนดมาใช้ในทาง เดินรถปรับไม่เกิน 1,000 บาท
นำรถที่ไม่มั่นคงแข็งแรงอาจเกิดอันตรายหรือทำให้เสื่อมเสีย สุขภาพอนามัย มาใช้ในทางเดินรถปรับ 500 บาท
นำรถที่ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียนมาใช้ในทางเดินรถปรับ 1,000 บาท
นำรถที่เครื่องยนต์ก่อให้เกิดเสียงเกินเกณฑ์ที่กำหนดมาใช้ ในทางเดินรถปรับ 1,000 บาท
ขับรถในลักษณะกีดขวางการจราจรจำคุกไม่เกิน 3 เดือนหรือปรับตั้งแต่ 2,000 -10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ขับรถในลักษณะกีดขวางการจราจรปรับ 400 -1,000 บาท
ขับรถแซงขึ้นหน้ารถอื่นทางด้านซ้ายมือโดยไม่มีเหตุอันสมควรปรับ 400-1,000 บาท
ขับรถแซงขึ้นหน้ารถอื่นขณะขึ้นทางชัน ขึ้นสะพาน หรืออยู่ในทางโค้ง ซึ่งไม่มีเครื่องหมาย จราจรให้แซงได้ปรับ 400-1,000 บาท
ขับรถไม่ปฏิบัติตามสัญญาณจราจร หรือเครื่องหมายจราจรที่ได้ติดตั้งไว้ปรับ 500 บาท
ขับรถในทางไม่เปิดไฟ หรือใช้แสงสว่างในเวลาที่มีแสง สว่างไม่เพียงพอที่จะมองเห็นคน รถหรือสิ่งกีดขวาง ในทางได้โดยชัดแจ้งภายในระยะ 150 เมตร อัตราโทษปรับ 1,000 บาท
ใช้สัญญาณไฟวับวาบผิดจากที่กำหนดปรับ 500 บาท
ขับรถบรรทุกของยื่นเกินความยาวของตัวรถในทางเดิน รถไม่ติดธงสีแดง ไว้ตอนปลายสุดให้มองเห็นได้ภายในระยะ 150 เมตร ปรับ 1,000 บาท
ขับรถในขณะเมาสุราหรือของมึนเมาอย่างอื่น มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับ 5,000-20,000 บาท
ขับรถไม่จัดให้มีสิ่งป้องกันมิให้คน สัตว์ หรือสิ่งของที่บรรทุก ตกหล่น รั่วไหล ส่งกลิ่น ส่องแสง สะท้อน หรือปลิวไปจาก รถอันอาจก่อเหตุเดือดร้อนรำคาญ ทำให้ทางสกปรกเปรอะเปื้อน ทำให้ เสื่อมเสียสุขภาพ อนามัยแก่ประชาชนหรือก่อให้เกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินปรับ 500 บาท
ขับรถไม่ปฏิบัติตามสัญญาณจราจรที่พนักงานเจ้าหน้าที่แสดงให้ปรากฏด้วยมือปรับ 1,000 บาท
ไม่หยุดรถหลังเส้นให้รถหยุด หรือหยุดรถห่างจากพนักงานเจ้าหน้าที่น้อยกว่าสามเมตร ปรับ 1,000 บาท
ไม่พกใบขับขี่ ปรับเท่าไหร่ 2566
หากผู้ใดขับรถไม่มีใบขับขี่ จะมีโทษต่าง ๆ ดังนี้..
ไม่มีหรือไม่พกใบขับขี่รถยนต์ เสียค่าปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ไม่มีใบขับขี่รถจักรยานยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ ปรับประมาณ 200 – 500 บาท
ขับรถในขณะที่ใบขับขี่หมดอายุ ถูกพักใช้ ถูกเพิกถอน หรือถูกยึดใบอนุญาตขับขี่ จะต้องถูกระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
ผู้ประกอบการยินยอมให้ขับรถสาธารณะโดยไม่มีใบอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
ขับรถไม่มีใบขับขี่ เพราะให้ผู้อื่นใช้ใบอนุญาต ปรับไม่เกิน 1,000 บาท
กรณีประจำรถโดยไม่ได้รับอนุญาต
หากผู้ใดฝ่าฝืนปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ขับรถโดยไม่มีใบอนุญาตต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน
ขับรถเหยียบน้ำกระเด็นใส่ผู้อื่น
ปรับสูงสุด 10,000 บาท โทษจำคุกสูงสุด 3 เดือน
ขับรถเหยียบสุนัข
ผู้ใดขับรถเหยียบสุนัข โดนข้อหาทารุณกรรมสัตว์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ขับรถขวางทางรถฉุกเฉินหรือรถพยาบาล
กฎหมายตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก มาตรา 76 : เมื่อเห็นรถฉุกเฉินในขณะปฏิบัติหน้าที่ใช้ไฟสัญญาณแสงวับวาบ หรือได้ยินเสียงสัญญาณไซเรน จะต้องให้รถฉุกเฉินผ่านไปก่อน หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท ถ้าหากการกระทำนั้นเป็น”เหตุโดยตรง”ที่ทำให้ผู้เจ็บป่วยในรถพยาบาลถึงแก่ชีวิต อาจเข้าข่ายกระทำความผิดโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย หรือกระทำโดยเจตนาเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งขึ้นอยู่กับพฤติการณ์ของผู้ขับรถ
กรณีขับรถตามหลังรถฉุกเฉินซึ่งกำลังปฏิบัติหน้าที่ในระยะไม่ถึง 50 เมตรปรับ 1,000 บาท
กฎหมายจราจรอื่น ๆ ที่ควรรู้!
ไม่ยอมให้รถในทางร่วมทางแยกนั้นผ่านไปก่อน เมื่อขับรถถึงทางร่วมทาง แยกทีหลังปรับ 500 บาท
ขับรถในทางก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคล หรือทรัพย์สินของผู้อื่น แล้วไม่หยุดช่วยเหลือ แสดงตัว และแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันทีจำคุกไม่เกิน 3 เดือนหรือปรับตั้งแต่ 2,000 -10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ขับรถแท็กซี่ปฏิเสธไม่รับจ้างบรรทุกคนโดยสาร (เว้นแต่ กรณีจะเกิดอันตรายแก่ตน หรือแก่คนโดยสาร) ปรับ 1,000 บาท
กระทำด้วยประการใด ๆ บนทางอันเป็นการกีดขวางของการจราจรปรับไม่เกิน 1,000 บาท
ฝ่าฝืนคำสั่งข้อบังคับหรือระเบียบของเจ้าพนักงานจราจรซึ่งสั่งหรือประกาศ ห้าม หยุดหรือ จอดปรับไม่เกิน 1,000 บาท
ขับรถบรรทุกวัตถุระเบิด หรือ วัตถุอันตรายไม่จัดให้มีป้ายแสดงถึงวัตถุ ที่บรรทุกจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทำให้ปรากฏซึ่งสัญญาณจราจรหรือเครื่องหมายจราจรที่กำหนดในทางเดินรถโดยไม่มีอำนาจจำคุกไม่เกิน 1 เดือนหรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ไม่ขับรถที่มีความเร็วช้าให้ใกล้ขอบทางด้านซ้ายในทางเดินรถที่มีสวนกันได้ปรับ 200-500 บาท
ไม่ขับรถบรรทุก รถบรรทุกคนโดยสารรถจักรยานยนต์ที่มีความเร็วช้าในช่องเดินรถซ้ายสุด ในทางเดินรถที่แบ่งช่องเดินรถไว้ตั้งแต่สองช่องขึ้นไป ปรับ 400-1,000 บาท
เลี้ยวรถหรือเปลี่ยนช่องเดินรถโดยไม่ให้สัญญาณปรับ 400-1,000 บาท
ขับรถแซงขึ้นหน้ารถอื่นภายในระยะ 30 เมตร ก่อนถึงทางแยกปรับตั้งแต่ 400-1,000 บาท
ขับรถออกจากที่จอดเมื่อมีรถจอดหรือสิ่งกีดขวางอยู่ข้างหน้าโดยไม่ให้สัญญาณมือหรือแขนหรือสัญญาณไฟปรับไม่เกิน 1,000 บาท
กลับรถในทางเดินรถกีดขวางการจราจรปรับตั้งแต่ 200-500 บาท
กลับรถในระยะ 100 เมตร จากเชิงสะพานปรับตั้งแต่ 400-1,000 บาท
กลับรถที่ทางร่วมทางแยก (เว้นแต่จะมีเครื่องหมายจราจรให้กลับรถได้)ปรับ 400-1,000 บาท
หยุดรถหรือจอดรถในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจรที่อธิบดีกำหนดในทางเดินรถโดยไม่มีอำนาจปรับ 500 บาท
ไม่จอดรถทางด้านซ้ายของทางเดินรถปรับ 500 บาท
จอดรถไม่ขนานชิดกับขอบทางหรือไหล่ทางในระยะห่างเกินกว่า 25 เซนติเมตรปรับ 500 บาท
หยุดรถบนทางเท้าโดยไม่มีเหตุผลสมควรปรับ 500 บาท
หยุดรถตรงปากทางเข้าออกของอาคาร หรือทางเดินรถ โดยไม่มีเหตุผลสมควรปรับ 500 บาท
จอดรถบนทางเท้าปรับไม่เกิน 500 บาท
จอดรถบนสะพานหรือในอุโมงค์ปรับไม่เกิน 500 บาท
จอดรถในทางร่วมทางแยก หรือภายในระยะ 10 เมตร จากทางร่วมทางแยกปรับ 500 บาท
จอดรถในเขตที่มีเครื่องหมายห้ามจอดปรับ 500 บาท
จอดรถภายในระยะ 15 เมตร ก่อนถึงเครื่องหมายหยุดรถประจำทางและเลยเครื่องหมายไปอีก 3 เมตรปรับ 500 บาท
จอดรถในลักษณะกีดขวางการจราจรปรับ 500 บาท
ทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งเครื่องมือบังคับ รถ มิให้เคลื่อนย้ายจำคุกไม่เกิน 3 เดือนหรือ ปรับไม่เกิน 5,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
จอดรถในทางเดินรถหรือไหล่ทางโดยไม่เปิดไฟ หรือใช้แสงสว่างเพียงพอ ที่จะเห็นรถที่จอด นั้นได้ชัดแจ้งในระยะไม่น้อยกว่า 150 เมตรปรับตั้งแต่ 200 – 500 บาท
ผู้ใดส่งเสียง ทำให้เกิดเสียงหรือกระทำความอื้ออึง โดยไม่มีเหตุอันสมควร จนทำให้ประชาชนตกใจหรือเดือดร้อน ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท
ลุ้นรับเงินรางวัล โครงการอาสาตาจราจร
ส่งคลิปกล้องหน้ารถหรือโทรศัพท์มือถือที่บันทึกอุบัติเหตุ และการกระทำผิดกฎจราจร ชิงเงินรางวัลสูงสุด 20,000 บาท โดยจะมีการคัดเลือกคลิปที่ส่งมาทุกเดือน !!
รายละเอียดเงินรางวัล
รางวัลที่ 1 จะได้รับเงิน 20,000 บาท
รางวัลที่ 2 จำนวน 10,000 บาท
รางวัลที่ 3 จำนวน 6,000 บาท
รางวัลชมเชย รวมเป็นเงิน 50,000 บาท
สถานที่สำหรับส่งข้อมูล
มูลนิธิเมาไม่ขับ
ศูนย์โซเชียลมีเดีย ศปก.ตร.
จส.100
สวพ.91
Facebook เพจตำรวจทางหลวง
Facebook เพจกองบัญชาการตำรวจนครบาล
โดนใบสั่งแต่ไม่จ่ายค่าปรับ โดนหมายจับย้อนหลัง 1 ปี
โดยมีขั้นตอนการปฏิบัติ ดังนี้..
1. เจ้าพนักงานจราจรออกใบสั่งให้กับผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก ปี 2522 ทั้งแบบความผิดซึ่งหน้าและความผิดที่ตรวจจับด้วยกล้องตรวจจับการกระทำความผิด ระยะเวลาเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
2. กรณีผู้กระทำความผิดไม่มาชำระค่าปรับ เมื่อพ้นระยะเวลาที่กำหนดไว้ในใบสั่งแต่ละประเภท เจ้าพนักงานจราจรจะออกหนังสือแจ้งการไม่ปฏิบัติตามใบสั่ง (ใบเตือน) โดยจัดส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับภายใน 15 วัน นับแต่วันครบกำหนดชำระค่าปรับในใบสั่ง โดยให้ถือว่าเจ้าของ หรือผู้ครอบครองได้รับแจ้งเมื่อพ้นกำหนด 15 วัน นับแต่วันส่ง และต้องชำระค่าปรับภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ซึ่งในขั้นตอนที่ 1. และ 2. ผู้กระทำความผิดสามารถเลือกชำระค่าปรับ ได้ที่สถานีตำรวจ ทุกสถานีทั่วประเทศ, ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคารกรุงไทย, เค้าเตอร์เซอร์วิสที่มีสัญลักษณ์ PTM และทางไปรษณีย์
3. กรณีพ้นระยะเวลาที่กำหนดไว้ในใบเตือน และผู้กระทำความผิดยังไม่มาชำระค่าปรับ นอกจากการส่งข้อมูลไปยังกรมการขนส่งทางบกเพื่อดำเนินการตามมาตรการงดออกเครื่องหมายการเสียภาษีประจำปีแล้ว พนักงานสอบสวนจะออกหมายเรียกผู้ต้องหา เพื่อให้มาชำระค่าปรับ หากไม่มาพบตามหมายเรียกทั้ง 2 ครั้ง พนักงานสอบสวนจะยื่นคำร้องขออนุมัติศาลในเขตพื้นที่ เพื่อออกหมายจับ
4. กรณีถูกออกหมายเรียก หรือหมายจับ ผู้ต้องหาจะถูกแจ้งข้อกล่าวหา ตามข้อหาที่ผู้ต้องหากระทำผิดตามใบสั่ง และความผิดข้อหาตามมาตรา 155 “ผู้ใดไม่ปฏิบัติตาม ม.141 (ชำระค่าปรับในเวลาที่กำหนดในใบสั่ง) โดยไม่มีเหตุอันสมควร ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท ซึ่งในขั้ตอนนี้ผู้ต้องหาต้องเดินทางมาพบพนักงานสอบสวนด้วยตนเอง ณ สถานีตำรวจที่ออกหมายเรียก หรือหมายจับ ไม่สามารถชำระผ่านช่องทางต่างๆ ตามข้อ 2. ได้
5. ผลของการถูกออกหมายจับในคดีอาญา เมื่อถูกออกหมายจับแล้ว จะถูกบันทึกในระบบ ฐานข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมตัวบุคคลที่มีหมายจับได้ทั่วราชอาณาจักร โดยใช้เทคโนโลยีในการเชื่อมฐานข้อมูล หากบุคคลที่มีหมายจับเดินทางออกนอกประเทศจะถูกจับ และเกิดความยากลำบากในเรื่องการเดินทาง ถูกบันทึกในทะเบียนประวัติซึ่งอาจส่งผลต่อการประกอบอาชีพการทำงาน กรณีที่หน่วยงานสอบถามประวัติคดีอาญาว่าเป็นบุคคลที่มีหมายจับ เกิดความยากลำบากและความน่าเชื่อถือในการทำนิติกรรม
6. กรณีผู้ต้องหามาพบพนักงานสอบสวนตามหมายจับด้วยตนเอง หรือถูกจับกุม และยินยอมเปรียบเทียบปรับให้คดีอาญาเลิกกัน พนักงานสอบสวนจะยกเลิกหมายจับ และลบประวัติออกจากระบบ
ทั้งนี้ หากประชาชนมีข้อสงสัยว่ามีใบสั่งค้างชำระหรือไม่ สามารถตรวจสอบได้ผ่านช่องทางใบสั่งจราจรออนไลน์สำหรับประชาชน https://ptm.police.go.th/eTicket/#/ . หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่ ศูนย์ควบคุมและสั่งการจราจร (บก.02) หมายเลขโทรศัพท์ 1197 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือทาง Facebook และ Twitter 1197
มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป และย้อนหลัง 1 ปี สำหรับใบสั่งที่ยังไม่หมดอายุความ ซึ่งจะหมดอายุความใน 1 ปี มีระบบตรวจสอบโดยเน้นผู้ที่กระทำผิดซ้ำๆ ส่วนใบสั่งที่หมดอายุความเกิน 1 ปีนับย้อนหลังจากนี้ ไม่มีผลแต่อย่างใด.
ที่มา https://www.pohchae.com/2023/10/06/new-traffic-law/